วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วิปัสสนากรรมฐาน คืออะไร ?

        ความหมายของวิปัสสนากรรมฐาน หากว่ากันอย่างง่ายๆ ก็คือ “การรู้จักตนเอง” ซึ่งตรงกับคำกล่าวของโสเครติสที่ว่า Know Thyself” พระพุทธองค์ทรงค้นพบว่า มนุษย์เราสามารถพ้นทุกข์ทั้งปวงทั้งสิ้นได้เมื่อเราได้เห็นสัจธรรมแห่งชีวิตอันแท้จริง นี่เป็นความเข้าใจอันลึกซึ้ง ซึ่งหมายถึง ความสุขของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งเร้าจากโลกภายนอก เราเพียงแค่ต้องรู้จักตนเองให้ชัดแจ้ง (แต่ในทางปรมัตถ์ การรู้จักตนเองเพื่อให้ความเข้าใจที่แท้ว่า ทุกสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลง ไม่มีสิ่งใดที่คงที่ ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง ดังคำที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้)
    วิปัสสนากรรมฐานตั้งอยู่บนหลักพื้นฐานของหลักของเหตุและผล เป็นวิธีการที่จะทำจิตให้บริสุทธิ์ ให้ปราศจากสิ่งปรุงแต่ง หรือตัวแปรต่างๆ ที่มากระทบจิตซึ่งทำให้เกิดความเครียด ความทุกข์ อันเป็นเทคนิคในการจัดการกับจิตโดยที่เราไม่ต้องพึ่งพาอำนาจ หรือการวิงวอนใดๆ จากพระเจ้า, วิญญาณ หรือจากพลังภายนอก วิปัสสนาใช้เพียงแค่ความเพียรพยายามของตนเท่านั้น
        วิปัสสนาเป็นความเข้าใจอันลึกซึ้ง ที่ตัดผ่านความเข้าใจทั่วๆ ไป เพื่อให้เข้าใจสภาพของจิต และให้เห็นสิ่งต่างๆ ตามสภาพความเป็นจริง ว่าไม่เที่ยงแท้, เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน. การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจะค่อยๆ ชำระจิตให้บริสุทธิ์ เป็นการขจัดความยึดมั่นถือมั่นในทุกสิ่ง เมื่อความยึดมั่นถือมั่นหมดไป ความทะยานอยาก และความไม่รู้ก็จะค่อยๆ ลดลงไป พระพุทธองค์ทรงตรัสเรียกชื่อกิเลสทั้งสองตัวนี้ว่า ตัณหา และอวิชชา ซึ่งเป็นรากฐานของความทุกข์ทั้งปวง. เมื่อกิเลสทั้งสองนี้ถูกขจัดสิ้นไป จิตก็จะสัมผัสเข้าถึงความเที่ยงแท้ที่เหนือโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สิ่งนั้นมีสภาพเป็นอมตะ เป็นโลกุตตรธรรม ซึ่งเรียกว่า “พระนิพพาน” ตามรากศัพท์ในภาษาบาลี
       วิปัสสนากรรมฐานเน้นการตั้งสติอยู่กับปัจจุบันขณะ ต้องอยู่กับอารมณ์ปัจจุบันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งก็คือการเฝ้าดู เฝ้าสังเกตระลึกรู้ร่างกาย (รูป) และจิตใจ (นาม) อย่างมีสติ
         คำว่า "วิปัสสนา" แยกออกได้เป็น ๒ ส่วน คำว่า "วิ" นั้น มีหลายความหมาย หนึ่งในนั้นหมายถึง "ผ่าน" หมายเอาได้ว่า การเข้าถึงวิปัสสนาสามารถตัดผ่านม่านลวงตาที่อยู่ในจิตใจได้ นอกจากนี้ "วิ" ยังมีความหมายว่า "แจ้ง" อธิบายได้ว่า เป็นรูปแบบของการเห็นแจ้งแยกแยะองค์ประกอบได้อย่างเด็ดขาด แนวคิดของการแยกแยะในที่นี้ ความเห็นแจ้งทำหน้าที่คล้ายมีดผ่าตัดทางจิต เป็นการแยกแยะให้จิตเห็นความแตกต่างระหว่างความจริงแบบโลกิยะ กับโลกุตตระ ส่วนคำว่า “ปัสสนา” นั้นหมายถึง การเห็น, การรับรู้ เมื่อนำทั้งสองมารวมผสานกันเข้า ก็จะหมายถึง “การเห็นวิเศษ” “การเห็นแจ้ง” “การหยั่งรู้วิเศษ” “การรู้แจ้ง” เป็นการเห็นอย่างลึกซึ้ง หรือความรู้เห็นที่มีพลัง มีประสิทธิภาพ ที่เข้าใจได้ทันที ซึ่งเป็นความเข้าใจอันลึกซึ้งที่ต้องได้พบเจอจากการปฏิบัติด้วยตนเอง ไม่เกี่ยวกับการคิดหาเหตุผลเอาเองใดๆ ทั้งสิ้น



ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น