วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อริยสัจจ์ ๔

อริยสัจจ์ ๔ (ความจริงอันประเสริฐ, ความจริงของพระอริยะ, ความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ — Ariyasacca: The Four Noble Truths)

. ทุกข์ (ความทุกข์, สภาพที่ทนได้ยาก, สภาวะที่บีบคั้น ขัดแย้ง บกพร่อง ขาดแก่นสาร และความเที่ยงแท้ ไม่ให้ความพึงพอใจแท้จริง, ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความปรารถนาไม่สมหวัง โดยย่อว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ — Dukkha: suffering; unsatisfactoriness)
. ทุกขสมุทัย (เหตุเกิดแห่งทุกข์, สาเหตุให้ทุกข์เกิด ได้แก่ ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และ วิภวตัณหา — Dukkha-samudaya: the cause of suffering; origin of suffering)
. ทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์ ได้แก่ ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป, ภาวะที่เข้าถึงเมื่อกำจัดอวิชชา สำรอกตัณหาสิ้นแล้ว ไม่ถูกย้อม ไม่ติดข้อง หลุดพ้น สงบ ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ คือ นิพพาน — Dukkha-nirodha: the cessation of suffering; extinction of suffering)
. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ปฏิปทาที่นำไปสู่ความดับแห่งทุกข์, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ อริยอัฏฐังคิกมรรค หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า “ทางสายกลาง” มรรคมีองค์ ๘ นี้ สรุปลงในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา — Dukkha-nirodhagàminã pañipadà: the path leading to the cessation of suffering)



         อริยสัจจ์ ๔ นี้ เรียกกันสั้นๆ ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (Dukkha, Samudaya, Nirodha, Magga); การแสดงอริยสัจจ์ ๔ นี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามุกกังสิกาธรรมเทศนา แปลตามอรรถกถาว่า พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงหยิบยกขึ้นถือเอาไว้ด้วยพระองค์เอง คือ ทรงเห็นด้วยพระสยัมภูญาณ (=ตรัสรู้เอง) ไม่สาธารณะแก่ผู้อื่น (แต่ตามที่อธิบายกันมา มักแปลว่า “พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นแสดงเอง โดยไม่ต้องปรารภคำถามหรือการทูลขอร้องของผู้ฟัง อย่างการแสดงธรรมเรื่องอื่นๆ”; ความจริง จะแปลว่า “พระธรรมเทศนาขั้นสุดยอด” ก็ได้ ซึ่งสมกับเป็นเรื่องที่ทรงแสดงท้ายสุดต่อจาก อนุปุพพิกถา ๕ คำแปลอย่างหลังนี้ พึงเทียบ องฺ.ทสก.๒๔/๙๕/๒๐๘)

ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น