วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สติปัฏฐาน ๔


สติปัฏฐาน ๔ (ที่ตั้งของสติ, การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความ เป็นจริง คือ ตามที่สิ่งนั้นๆ มันเป็นของมัน — Satipaññhàna: foundations of mindfulness)

๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็น แต่เพียงกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา — Kàyànupassanà-~ : contemplation of the body; mindfulness as regards the body) ท่านจำแนกวิธีปฏิบัติไว้หลายอย่าง คือ อานาปานสติ กำหนดลมหายใจ ๑ อิริยาบถ กำหนดรู้ทันอิริยาบถ ๑ สัมปชัญญะ สร้าง สัมปชัญญะในการกระทำความเคลื่อนไหวทุกอย่าง ๑ ปฏิกูลมนสิการ พิจารณาส่วนประกอบอัน ไม่สะอาดทั้งหลายที่ประชุมเข้าเป็นร่างกายนี้ ธาตุมนสิการ พิจารณาเห็นร่างกายของตนโดยสัก ว่าเป็นธาตุแต่ละอย่างๆ นวสีวถิกา พิจารณาซากศพในสภาพต่างๆ อันแปลกกันไปใน ๙ ระยะ เวลา ให้เห็นคติธรรมดาของร่างกาย ของผู้อื่นเช่นใด ของตนก็จักเป็นเช่นนั้น ๑
๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา — Vedanànupassanà-~ : contemplation of feelings; mindfulness as regards feelings) คือ มีสติอยู่พร้อมด้วยความรู้ชัดเวทนาอันเป็น สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี ทั้งที่เป็นสามิส และเป็นนิรามิสตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่ เพียงจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา — Cittànupassanà-~ : contemplation of mind; mindfulness as regards mental conditions) คือ มีสติอยู่พร้อมด้วยความรู้ชัดจิตของตนที่ มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ฟุ้งซ่านหรือเป็น สมาธิ ฯลฯ อย่างไรๆ ตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่ เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา — Dhammànupassanà-~ : contemplation of mindobjects; mindfulness as regards ideas) คือ มีสติอยู่พร้อมด้วยความรู้ชัดธรรมทั้งหลาย ได้แก่ นิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ โพชฌงค์ ๗ อริยสัจจ์ ๔ ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตน หรือไม่ เกิดขึ้น เจริญบริบูรณ์ และดับไปได้อย่างไร เป็นต้น ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้นๆ.

ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น